วันอาทิตย์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ความหมายของการเรียนรู้


ทิศนา แขมมณี (2544) ได้รวบรวมและกล่าวถึงความหมายของการเรียนรู้ไว้ดังนี้ 
          1. การเรียนรู้เป็นงานเฉพาะบุคคล ทำแทนกันไม่ได้ ครูที่ต้องการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ต้องเปิดโอกาสให้เขาได้มีประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยตัวของเขาเอง
          2. การเรียนรู้เป็นกระบวนการทางสติปัญญาที่ต้องมีการใช้กระบวนการคิด สร้างความเข้าใจ ความหมายของสิ่งต่างๆ ดังนั้นครูจึงควรกระตุ้นให้ผู้เรียนใช้กระบวนการคิดทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ
          3. การเรียนรู้เป็นกระบวนการทางสังคม เพราะในเรื่องเดียวกัน อาจคิดได้หลายแง่ หลายมุมทำให้เกิดการขยาย เติมเต็มข้อความรู้ ตรวจสอบความถูกต้องของการเรียนรู้ตามที่สังคมยอมรับด้วย ดังนั้นครูที่ปรารถนาให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้จะต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับบุคคลอื่นหรือแหล่งข้อมูลอื่นๆ
          4. การเรียนรู้เป็นกิจกรรมที่สนุกสนาน เป็นความรู้สึกเบิกบาน เพราะหลุดพ้นจากความไม่รู้ นำไปสู่ความใฝ่รู้ อยากรู้อีก เพราะเป็นเรื่องน่าสนุก ครูจึงควรสร้างภาวะที่กระตุ้นให้เกิดความอยากรู้หรือคับข้องใจบ้าง ผู้เรียนจะหาคำตอบเพื่อให้หลุดพ้นจากความข้องใจ และเกิดความสุขขึ้นจากการได้เรียนรู้ เมื่อพบคำตอบด้วยตนเอง
          5. การเรียนรู้เป็นงานต่อเนื่องตลอดชีวิต ขยายพรมแดนความรู้ได้ไม่มีที่สิ้นสุด ครูจึงควรสร้างกิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดการแสวงหาความรู้ไม่รู้จบ
          6. การเรียนรู้เป็นการเปลี่ยนแปลง เพราะได้รู้มากขึ้นทำให้เกิดการนำความรู้ไปใช้ในการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ เป็นการพัฒนาไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ครูควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้รับรู้ผลการพัฒนาของตัวเขาเองด้วย

          จากความหมายของการเรียนรู้ที่กล่าวมา ครูจึงต้องคำนึงถึงประเด็นต่างๆ ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ดังนี้
          (1)   ความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้เรียน
          (2)   การเน้นความต้องการของผู้เรียนเป็นหลัก
          (3)   การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้เรียน
          (4)   การจัดกิจกรรมให้น่าสนใจ ไม่ทำให้ผู้เรียนรู้สึกเบื่อหน่าย
          (5)   ความเมตตากรุณาต่อผู้เรียน
          (6)   การท้าทายให้ผู้เรียนอยากรู้
          (7)   การตระหนักถึงเวลาที่เหมาะสมที่ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้
          (8)   การสร้างบรรยากาศหรือสถานการณ์ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้โดยการปฏิบัติจริง
          (9)   การสนับสนุนและส่งเสริมการเรียนรู้
          (10) การมีจุดมุ่งหมายของการสอน
          (11) ความเข้าใจผู้เรียน
          (12) ภูมิหลังของผู้เรียน
          (13) การไม่ยึดวิธีการใดวิธีการหนึ่งเท่านั้น
          (14) การเรียนการสอนที่ดีเป็นพลวัตร (dynamic) กล่าวคือ มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาทั้งในด้านการจัดกิจกรรม การสร้างบรรยากาศ รูปแบบเนื้อหาสาระ เทคนิค วิธีการ
          (15) การสอนในสิ่งที่ไม่ไกลตัวผู้เรียนมากเกินไป
          (16) การวางแผนการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ

เสรี วงษ์มณฑา (https://th-th.facebook.com/seri.wongmonta/posts/592724210766056) ได้กล่าวไว้ว่า การเรียนรู้ (learning) คือการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมี 3 ด้านคือ 
        1 ด้านสมอง (cognitive change) คือไม่รู้ได้รู้ ไม่เข้าในได้เข้าใจ ไม่ตระหนักได้ตระหนัก
        2. ด้านความรู้สึก (affective change) คือไม่ชอบเป็นชอบ ชอบน้อยเป็นชอบมาก ชอบเป็นไม่ชอบ เกลียดน้อยเป็นเกลียดมาก
        3. ด้านพฤคิกรรม (conative change) คือทำไม่เป็นกลายเป็นทำเป็น ทำไม่เก่งเป็นทำเก่ง ไม่เคยทำหันมาทำ เคยทำอยู่แล้วเลิกทำ เคยนานๆทำทีกลายเป็นทำบ่อยๆ

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99) ได้ให้คำจำกัดความของการเรียนรู้ หมายถึง การได้รับความรู้ พฤติกรรม ทักษะ คุณค่า หรือความพึงใจ ที่เป็นสิ่งแปลกใหม่หรือปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่ และอาจเกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์สารสนเทศชนิดต่าง ๆ ผู้ประมวลทักษะของการเรียนรู้เป็นได้ทั้งมนุษย์ สัตว์ และเครื่องจักรบางชนิด ความก้าวหน้าในการเรียนรู้เมื่อเทียบกับเวลามีแนวโน้มเป็นเส้นโค้งแห่งการเรียนรู้ (learning curve)
        การเรียนรู้ของมนุษย์อาจเกิดขึ้นจากส่วนหนึ่งของการศึกษา การพัฒนาส่วนบุคคล การเรียนการสอน หรือการฝึกฝน การเรียนรู้อาจมีการยึดเป้าหมายและอาจมีความจูงใจเป็นตัวช่วย การศึกษาว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นได้อย่างไรเป็นส่วนหนึ่งของสาขาวิชาประสาทจิตวิทยา (neuropsychology) จิตวิทยาการศึกษา (educational psychology) ทฤษฎีการเรียนรู้ (learning theory) และศึกษาศาสตร์ (pedagogy) การเรียนรู้อาจทำให้เกิดพฤติกรรมการเรียนรู้ (habituation) หรือการวางเงื่อนไขแบบดั้งเดิม (classical conditioning) ซึ่งพบในสัตว์หลายชนิด หรือทำให้เกิดกิจกรรมที่ซับซ้อนมากขึ้นอย่างเช่นการเล่น ซึ่งพบได้เฉพาะในสัตว์ที่มีเชาวน์ปัญญา [1][2] การเรียนรู้อาจก่อให้เกิดความตระหนักอย่างมีสำนึกหรือไม่มีสำนึกก็ได้


สรุปความหมายของการเรียนรู้
        การเรียนรู้หมายถึง  การได้รับความรู้ พฤติกรรม ทักษะ คุณค่า ความพึงพอใจ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการเฉพาะบุคคล กระบวนการทางสังคม ที่จะทำให้เกิดสติปัญญา ความสนุกสนาน ที่เป็นสิ่งแปลกใหม่หรือปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่ ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน 3 ด้านคือ ด้านสมอง ด้านความรู้สึก และด้านพฤติกรรม


อ่านเพิ่มเติม
http://www.baanjomyut.com/library_2/psychology_of_learning/01.html

 http://www.myfirstbrain.com/teacher_view.aspx?ID=79153

http://teacher.aru.ac.th/thanee/images/stories/word/learning123.pdf

http://www.stou.ac.th/study/sumrit/6-57(500)/page6-5-57(500).html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น