วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ศาสตราใหม่สำหรับครูในศตวรรษที่ 21

          ครูต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองโดยสิ้นเชิงเพื่อให้เป็น “ครูเพื่อศิษย์ ในศตวรรษที่ 21” ไม่ ใช่ครูเพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 20 หรือศตวรรษที่ 19 ที่เตรียมคนออกไปทำงานในสายพานการผลิตในยุคอุตสาหกรรม การศึกษาในศตวรรษที่ 21 ต้องเตรียมคนออกไปเป็นคนทำงานที่ใช้ความรู้ (knowledgeworker) และเป็นบุคคลพร้อมเรียนรู้ (learning person) ไม่ว่าจะประกอบสัมมาชีพใด มนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ต้องเป็นบุคคลพร้อมเรียนรู้ และเป็นคนทำงานที่ใช้ความรู้ แม้จะเป็นชาวนาหรือเกษตรกรก็ต้องเป็นคนที่พร้อมเรียนรู้ และเป็นคนทำงานที่ใช้ความรู้ ดังนั้น ทักษะสำคัญที่สุดของศตวรรษ ที่ 21 จึงเป็นทักษะของการเรียนรู้ (learning skills)การศึกษาในศตวรรษที่ 21 จำต้องเป็นเช่นนี้ก็เพราะต้องเตรียมคนไปเผชิญการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว รุนแรง พลิกผัน และคาดไม่ถึง คนยุคใหม่ จึงต้องมีทักษะสูงในการเรียนรู้และปรับตัว

          ครูเพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21 จึงต้องพัฒนาตนเองให้มีทักษะของการเรียนรู้ด้วย และในขณะเดียวกันก็ต้องมีทักษะในการทำหน้าที่ครูในศตวรรษที่ 21 ทักษะของคนในศตวรรษที่ 21 ที่คนทุกคนต้องเรียนรู้ตั้งแต่ชั้นอนุบาลไปจนถึงมหาวิทยาลัย และตลอดชีวิต คือ 3R x 7C



          3R ได้แก่ Reading (อ่านออก), (W)Riting (เขียนได้) และ (A)Rithmetics (คิดเลขเป็น)
          7C ได้แก่
                - Critical Thinking and Problem Solving (ทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และทักษะในการแก้ปัญหา
                - Creativity and Innovation (ทักษะด้านการสร้างสรรค์ และนวัตกรรม)
                - Cross-cultural Understanding (ทักษะด้านความเข้าใจความต่างวัฒนธรรม ต่างกระบวนทัศน์)
                - Collaboration, Teamwork and Leadership (ทักษะด้านความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ)
                - Communications, Information, and Media Literacy (ทักษะด้านการสื่อสารสารสนเทศ และรู้เท่าทันสื่อ)
                - Computing and ICT Literacy (ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร)
                - Career and Learning Skills (ทักษะอาชีพ และทักษะการเรียนรู้)

          การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 คือ การเรียนรู้ 3R x 7C ครูต้องเรียนรู้ 3R x 7C และต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต แม้เกษียณอายุจากการเป็นครูประจำการไปแล้ว เพราะเป็นการเรียนรู้เพื่อชีวิตของตนเอง ระหว่างเป็นครูประจำการก็เรียนรู้สำหรับเป็นครูเพื่อศิษย์ และเพื่อการดำรงชีวิตของตนเอง ครูเพื่อศิษย์ต้องฝึกฝนตนเองให้มีทักษะในการ เป็นโค้ช และเป็น“คุณอำนวย” (facilitator) ในการเรียนรู้แบบ PBL (Project-BasedLearning) ของศิษย์ ซึ่งผมจะเขียนรายละเอียดเรื่อง PBL ในบทต่อ ๆ ไป ขอย้ำว่าครูต้องเลิกเป็น “ผู้สอน” ผันตัวเองมาเป็นโค้ช หรือ “คุณอำนวย” ของ การเรียนของศิษย์ที่ส่วนใหญ่เรียนแบบ PBL นั่นหมายถึงโรงเรียนในศตวรรษที่ 21 ต้องเลิกเน้นสอน หันมาเน้นเรียน ซึ่งต้องเน้นทั้งการเรียนของนักเรียนและของครู ครูจะต้องปรับตัวมากซึ่งเป็นเรื่องยาก จึงต้องมีตัวช่วย คือ Professional Learning Communities (PLC) ซึ่งก็คือ การรวมตัวกันของครูประจำการเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำหน้าที่ ครูนั่นเอง

ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ วิธีสร้างการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21: วิจารณ์ พานิช

วันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ความสำคัญของการเรียนรู้


ชาญชัย อินทรประวัติ (http://www.kroobannok.com/blog/45566) ได้กล่าวถึง ความสำคัญของการเรียนรู้ไว้ว่า การเรียนรู้มีหลักสำคัญอยู่ 4 ประการคือ
          1. ผู้เรียนควรจะมีส่วนร่วมในการเรียนรู้อย่างจริงจัง  (Active Participation) หมายความว่า เมื่อครูสอนนักเรียนก็จะต้องมีส่วนร่วมในกิจกรรมการสอนของครูทั้งกายและใจ นักเรียนที่นั่งเหม่อลอยหรือนั่งหลับในขณะที่ครูสอนถือว่าไม่มีส่วนร่วมมากนัก นักเรียนที่ไม่ยอมคิดเมื่อครูถามคำถามก็ถือว่า ไม่มีส่วนร่วมในการเรียนการสอน นักเรียนที่ลอกการบ้านเพื่อนแทนที่จะทำเอง ถือว่ามีส่วนร่วมเหมือนกันแต่ไม่เข้าขั้น active นักเรียนที่เข้าห้องปฏิบัติการแต่ไม่ยอมทำอะไรเองคอยอาศัยแต่เพื่อน ก็ถือว่าไม่มีส่วนร่วมอย่างจริงจังเช่นกัน ด้วยเหตุนี้เองผู้หลักผู้ใหญ่สมัยก่อนเขาจึงสอนเด็ก ๆ ว่า “จะต้องเป็นคนเอาตาดู เอาหูฟัง และเอาใจใส่” กับเรื่องรอบ ๆ ตัว จึงจะเฉลียวฉลาดทันคน
              เพราะฉะนั้นคำถามสำหรับคนเป็นครูในหลักการข้อนี้ ก็คือ
              - ทำอย่างไรจึงจะทำให้นักเรียนเข้าเรียนโดยเอาตาดู เอาหูฟัง และเอาใจใส่
              - ทำอย่างไรจึงจะทำให้นักเรียนเข้าห้องปฏิบัติการและลงมือทำการทดลองด้วยตนเอง
              - ทำอย่างไรจึงจะทำให้นักเรียนคิดเมื่อครูถามคำถาม        
              - ทำอย่างไรจึงจะทำให้นักเรียนทำการบ้านด้วยตนเอง ฯลฯ
             ครูจำนวนไม่น้อยที่ชอบคิดว่าพฤติกรรมการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังนี้เป็นหน้าที่ของผู้เรียนโดยตรง เพราะครูมีหน้าที่สอนเท่านั้น เข้าทำนองที่ว่า “นี่คือเรื่องของเธอ” “เรื่องของฉันคือสอน เรื่องของเธอคือเรียน” แท้ที่จริงแล้ว ส่วนหนึ่งของการสอนก็คือการทำให้นักเรียนมีส่วนร่วมอย่างจริงจังนั่นเอง
          2. ผู้เรียนควรจะได้เรียนรู้ทีละขั้นทีละตอนจากง่ายไปสู่ยากและจากไม่ซับซ้อนไปสู่รูปที่ซับซ้อน (Gradual approximation) ตัวอย่างเช่น เด็ก ๆ ต้องบวกลบเลขเป็นเสียก่อนจึงจะสามารถเรียนรู้การคูณและการหาร คนเราต้องพูดเป็นคำ ๆ ได้เสียก่อนจึงจะสามารถพูดเป็นประโยคได้ หรือต้องเดินให้ได้เสียก่อน แล้วจึงวิ่งค่อยเหยาะ ๆ จากนั้นจึงวิ่งเร็ว ๆ เช่นนี้เป็นต้น ครูที่หวังจะสอนนักเรียนให้เกิดการเรียนรู้จึงต้อง รู้จักแบ่งเนื้อหา และจัดลำดับเนื้อหาตามความยากง่าย แล้วจึงนำมาสอนทีละขั้นทีละตอนอย่างเหมาะสม
              ขอให้สังเกตภาพต่อไปนี้ ทั้งสามภาพนี้คือบันไดที่สร้างความรู้สึกแตกต่างกันให้แก่ผู้ที่จะต้องปีน
              ภาพที่ 1 เป็นบันไดที่ผู้ปีนเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายมากเพราะปีนตั้งนานก็ไม่ไปถึงไหน
              ภาพที่ 2 เป็นบันไดที่ผู้ปีนเกิดความรู้สึกประหวั่นพรั่นพรึงมาก เพราะมันยากมากที่จะปีน ขึ้นไปได้
              ภาพที่ 3 เป็นบันไดที่ผู้ปีนสบายใจ เพราะอยู่ในวิสัยที่ทำได้ จึงเกิดความมั่นใจที่จะปีน
             การจัดลำดับความยากง่ายของเนื้อหาก็ต้องเป็นไปอย่างเหมาะสมในทำนองนี้เช่นกัน         
          3. ให้นักเรียนได้รับข้อมูลย้อนกลับที่เหมาะสมและไม่เนิ่นนานจนเกินไป (Immediate feedback) เมื่อนักเรียนได้ทำกิจกรรมตามคำ
แนะนำหรือคำสั่งของครูไป แล้วเขาก็มักอยากจะ รู้ว่าสิ่งที่เขาทำนั้นถูกต้องแล้วหรือยัง ถ้าเขาได้รับข้อมูลย้อนกลับทันการและเหมาะสมเขาก็จะเกิดการเรียนรู้ ที่ดีรวมทั้งเกิดความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ต่อไป แต่ถ้าเขาไม่ได้รับข้อมูลย้อนกลับหรือต้องคอยเป็นเวลานานจึงจะได้รับเขาจะเกิดการเรียนรู้น้อย และในขณะเดียวกันความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ก็จะมีไม่มาก เพราะฉะนั้นครูจึงควรตระหนักในสิ่งต่อไปนี้
               - เมื่อเด็กตอบคำถามเขาจะต้องได้รับการบอกกล่าวว่าคำตอบของเขานั้นถูกหรือผิดประการใด 
               - เมื่อเด็กการบ้านมาส่ง ครูต้องตรวจ และให้คำแนะนำให้เร็วที่สุด เท่าที่จะเร็วได้  
               - เมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมในการเรียนรู้ภาคปฏิบัติทักษะ ครูต้องคอยดูและคอยบอกว่าเขาปฏิบัติได้ถูกต้องแล้วหรือยัง        
              และสิ่งที่สำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งที่การให้ข้อมูลย้อนกลับก็คือนอกจากจะต้องไม่ปล่อยให้เนิ่นนานเกินไปแล้ว ครูต้องบอกเขาด้วยว่าสิ่งที่เขาทำนั้น “ถูกต้องอย่างไร” และ “ยังไม่ถูกต้องอย่างไร” ไม่ใช่เพียงแต่บอกว่าถูกหรือผิดเท่านั้น นอกจากนั้น วิธีบอกหรือ Approach ของครูก็ควรจะไม่ทำลายความรู้สึกดี ๆ ของเด็กด้วย เช่น การที่จะบอกว่าคำตอบของเด็กไม่ถูกต้อง อาจจะมีได้หลายวิธี เช่น
              - พูดด้วยหน้าตาบึ้งตึง น้ำเสียงกราดเกรี้ยวว่า “ผิดใช้ไม่ได้”        
              - พูดด้วยหน้าตาราบเรียบ เฉยเมยว่า “ผิด”      
              - เขียนด้วยเครื่องหมายกากบาทขนาดมหึมาด้วยปากกาสีแดง        
              - ไม่เขียนเครื่องหมายผิดแต่เขียนคำอธิบายว่ามันยังไม่ถูกต้องอย่างไรด้วยปากกาหมึกแดงหรือสะท้อนแสง        
              - พูดยิ้ม ๆ ด้วยน้ำเสียงแฝงความเมตตาว่า “เกือบใช้ได้แล้ว เพียงแต่เธอลืมหรือสะเพร่าไปนิดเดียวเอง คราวหน้าต้องรอบคอบหน่อยนะ”   ฯลฯ
              ครูที่ปรารถนาจะให้กำลังใจเด็กเพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้ก็สามารถเลือกวิธีการให้เหมาะกับอุปนิสัยของเด็กได้ โปรดอย่าลืมว่า
การให้ข้อมูลย้อนกลับเชิงบวก ดีที่สุด        
              การให้ข้อมูลย้อนกลับเชิงลบ ไม่ค่อยดีนักในแง่จิตวิทยาแต่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ได้        
              การไม่ให้ข้อมูลย้อนกลับใด ๆ แย่ที่สุด เพราะไม่ช่วยอะไรผู้เรียนเลย      
          4. การเสริมแรงหรือให้กำลังใจที่เหมาะสม (Appropriate Reinforcement) ผู้เรียนทุกคนไม่ว่าอายุมากหรืออายุน้อย ไม่ว่าหญิงหรือชาย ล้วนต้องการกำลังใจหรือการเสริมแรงเพื่อให้ฟันฝ่าอุปสรรค แสวงหาความรู้ต่อไป ซึ่งการให้กำลังใจของครูอาจจะกระทำได้หลายวิธีด้วยกัน เช่น
              - เมื่อเด็กพยายามจะเล่าถึงความสำเร็จในการเรียนรู้ของเราเองให้ครูฟัง ครูก็ควรต้องมีเวลาฟัง        
              - เมื่อเด็กมีคำถามและนำมาปรึกษา ครูก็ให้คำปรึกษาด้วยความเต็มใจ        
              - เมื่อเด็กทำงานถูกต้องตามที่ควรจะเป็น ครูก็ชมเชย        
              - เมื่อเด็กมีผลงานอยู่ในระดับดีมาก สามารถเป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่นได้ ครูก็ยกย่องให้ปรากฏ        
              - เมื่อเด็กมีผลงานที่ถูกต้อง แม้ไม่สมบูรณ์แบบ ครูก็ชมเชยในส่วนที่ถูกและชี้แนะในสิ่งที่ผิด        
                ฯลฯ
          การเสริมแรงหรือการให้กำลังใจที่ดีจะต้องมีความพอเหมาะพอสมกับผลงาน คือ ไม่ชมเชยจนเกินความเป็นจริง เพราะจะทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ แต่ก็ต้องไม่น้อยจนเกินไป เช่น สำหรับเด็ก นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่มีผลการเรียนเฉลี่ย 3.39 อาจารย์ที่ปรึกษาก็น่าจะพูดชมเชยด้วย เพราะการยิ้ม ๆ อย่างเดียวก็น่าจะน้อยเกินไป แต่สำหรับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาอาจจะไม่ต้องพูดชมเชยด้วยก็ได้เพราะเขาโตแล้ว
          หลักการที่สำคัญในการเรียนรู้ทั้งสี่ประการที่ได้กล่าวมานี้เป็นหลักการเรียนรู้ทั่วไป ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการเรียนรู้ได้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ไม่เลือกเพศ ไม่เลือกวัย จะนำไปใช้กับเด็กเล็ก ๆ 4-5 ขวบ หรือจะนำไปใช้กับนักศึกษาปริญญาเอกอายุ 30-40 ปี ก็ย่อมได้เสมอ หลักการนี้เป็นหลักการที่มีการใช้มาและประสบความสำเร็จตั้งแต่สมัยพุทธกาล จนกระทั่งถึงปัจจุบัน เพราะฉะนั้นหากท่านจะทดลองนำไปใช้ดูบ้าง ก็น่าจะประสบผลสำเร็จได้โดยง่ายเช่นกัน






วันอาทิตย์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ความหมายของการเรียนรู้


ทิศนา แขมมณี (2544) ได้รวบรวมและกล่าวถึงความหมายของการเรียนรู้ไว้ดังนี้ 
          1. การเรียนรู้เป็นงานเฉพาะบุคคล ทำแทนกันไม่ได้ ครูที่ต้องการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ต้องเปิดโอกาสให้เขาได้มีประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยตัวของเขาเอง
          2. การเรียนรู้เป็นกระบวนการทางสติปัญญาที่ต้องมีการใช้กระบวนการคิด สร้างความเข้าใจ ความหมายของสิ่งต่างๆ ดังนั้นครูจึงควรกระตุ้นให้ผู้เรียนใช้กระบวนการคิดทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ
          3. การเรียนรู้เป็นกระบวนการทางสังคม เพราะในเรื่องเดียวกัน อาจคิดได้หลายแง่ หลายมุมทำให้เกิดการขยาย เติมเต็มข้อความรู้ ตรวจสอบความถูกต้องของการเรียนรู้ตามที่สังคมยอมรับด้วย ดังนั้นครูที่ปรารถนาให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้จะต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับบุคคลอื่นหรือแหล่งข้อมูลอื่นๆ
          4. การเรียนรู้เป็นกิจกรรมที่สนุกสนาน เป็นความรู้สึกเบิกบาน เพราะหลุดพ้นจากความไม่รู้ นำไปสู่ความใฝ่รู้ อยากรู้อีก เพราะเป็นเรื่องน่าสนุก ครูจึงควรสร้างภาวะที่กระตุ้นให้เกิดความอยากรู้หรือคับข้องใจบ้าง ผู้เรียนจะหาคำตอบเพื่อให้หลุดพ้นจากความข้องใจ และเกิดความสุขขึ้นจากการได้เรียนรู้ เมื่อพบคำตอบด้วยตนเอง
          5. การเรียนรู้เป็นงานต่อเนื่องตลอดชีวิต ขยายพรมแดนความรู้ได้ไม่มีที่สิ้นสุด ครูจึงควรสร้างกิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดการแสวงหาความรู้ไม่รู้จบ
          6. การเรียนรู้เป็นการเปลี่ยนแปลง เพราะได้รู้มากขึ้นทำให้เกิดการนำความรู้ไปใช้ในการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ เป็นการพัฒนาไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ครูควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้รับรู้ผลการพัฒนาของตัวเขาเองด้วย

          จากความหมายของการเรียนรู้ที่กล่าวมา ครูจึงต้องคำนึงถึงประเด็นต่างๆ ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ดังนี้
          (1)   ความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้เรียน
          (2)   การเน้นความต้องการของผู้เรียนเป็นหลัก
          (3)   การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้เรียน
          (4)   การจัดกิจกรรมให้น่าสนใจ ไม่ทำให้ผู้เรียนรู้สึกเบื่อหน่าย
          (5)   ความเมตตากรุณาต่อผู้เรียน
          (6)   การท้าทายให้ผู้เรียนอยากรู้
          (7)   การตระหนักถึงเวลาที่เหมาะสมที่ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้
          (8)   การสร้างบรรยากาศหรือสถานการณ์ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้โดยการปฏิบัติจริง
          (9)   การสนับสนุนและส่งเสริมการเรียนรู้
          (10) การมีจุดมุ่งหมายของการสอน
          (11) ความเข้าใจผู้เรียน
          (12) ภูมิหลังของผู้เรียน
          (13) การไม่ยึดวิธีการใดวิธีการหนึ่งเท่านั้น
          (14) การเรียนการสอนที่ดีเป็นพลวัตร (dynamic) กล่าวคือ มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาทั้งในด้านการจัดกิจกรรม การสร้างบรรยากาศ รูปแบบเนื้อหาสาระ เทคนิค วิธีการ
          (15) การสอนในสิ่งที่ไม่ไกลตัวผู้เรียนมากเกินไป
          (16) การวางแผนการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ

เสรี วงษ์มณฑา (https://th-th.facebook.com/seri.wongmonta/posts/592724210766056) ได้กล่าวไว้ว่า การเรียนรู้ (learning) คือการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมี 3 ด้านคือ 
        1 ด้านสมอง (cognitive change) คือไม่รู้ได้รู้ ไม่เข้าในได้เข้าใจ ไม่ตระหนักได้ตระหนัก
        2. ด้านความรู้สึก (affective change) คือไม่ชอบเป็นชอบ ชอบน้อยเป็นชอบมาก ชอบเป็นไม่ชอบ เกลียดน้อยเป็นเกลียดมาก
        3. ด้านพฤคิกรรม (conative change) คือทำไม่เป็นกลายเป็นทำเป็น ทำไม่เก่งเป็นทำเก่ง ไม่เคยทำหันมาทำ เคยทำอยู่แล้วเลิกทำ เคยนานๆทำทีกลายเป็นทำบ่อยๆ

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99) ได้ให้คำจำกัดความของการเรียนรู้ หมายถึง การได้รับความรู้ พฤติกรรม ทักษะ คุณค่า หรือความพึงใจ ที่เป็นสิ่งแปลกใหม่หรือปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่ และอาจเกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์สารสนเทศชนิดต่าง ๆ ผู้ประมวลทักษะของการเรียนรู้เป็นได้ทั้งมนุษย์ สัตว์ และเครื่องจักรบางชนิด ความก้าวหน้าในการเรียนรู้เมื่อเทียบกับเวลามีแนวโน้มเป็นเส้นโค้งแห่งการเรียนรู้ (learning curve)
        การเรียนรู้ของมนุษย์อาจเกิดขึ้นจากส่วนหนึ่งของการศึกษา การพัฒนาส่วนบุคคล การเรียนการสอน หรือการฝึกฝน การเรียนรู้อาจมีการยึดเป้าหมายและอาจมีความจูงใจเป็นตัวช่วย การศึกษาว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นได้อย่างไรเป็นส่วนหนึ่งของสาขาวิชาประสาทจิตวิทยา (neuropsychology) จิตวิทยาการศึกษา (educational psychology) ทฤษฎีการเรียนรู้ (learning theory) และศึกษาศาสตร์ (pedagogy) การเรียนรู้อาจทำให้เกิดพฤติกรรมการเรียนรู้ (habituation) หรือการวางเงื่อนไขแบบดั้งเดิม (classical conditioning) ซึ่งพบในสัตว์หลายชนิด หรือทำให้เกิดกิจกรรมที่ซับซ้อนมากขึ้นอย่างเช่นการเล่น ซึ่งพบได้เฉพาะในสัตว์ที่มีเชาวน์ปัญญา [1][2] การเรียนรู้อาจก่อให้เกิดความตระหนักอย่างมีสำนึกหรือไม่มีสำนึกก็ได้


สรุปความหมายของการเรียนรู้
        การเรียนรู้หมายถึง  การได้รับความรู้ พฤติกรรม ทักษะ คุณค่า ความพึงพอใจ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการเฉพาะบุคคล กระบวนการทางสังคม ที่จะทำให้เกิดสติปัญญา ความสนุกสนาน ที่เป็นสิ่งแปลกใหม่หรือปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่ ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน 3 ด้านคือ ด้านสมอง ด้านความรู้สึก และด้านพฤติกรรม


อ่านเพิ่มเติม
http://www.baanjomyut.com/library_2/psychology_of_learning/01.html

 http://www.myfirstbrain.com/teacher_view.aspx?ID=79153

http://teacher.aru.ac.th/thanee/images/stories/word/learning123.pdf

http://www.stou.ac.th/study/sumrit/6-57(500)/page6-5-57(500).html

1023401 การจัดการเรียนรู้


1023401 การจัดการเรียนรู้ (Learning Management) 3 หน่วยกิต 3(2-2)
คำอธิบายรายวิชา
          ความหมาย ความสำคัญ องค์ประกอบการจัดการเรียนรู้ ทฤษฎีการเรียนรู้ รูปแบบการจัดการเรียนรู้ เทคนิค วิทยาการจัดการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนรู้จักคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์และคิดแก้ปัญหา การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญโดยบูรณาการเนื้อหาในกลุ่มสาระการเรียนรู้ การบูรณาการการเรียนรู้แบบเรียนรวม การใช้และการผลิตสื่อ การพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ การประเมินผลการเรียนรู้ ฝึกปฏิบัติการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง ทดลองจัดการเรียนรู้ในสถานการณ์จำลองและสถานการณ์จริงเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลจริง

 วัตถุประสงค์
          1. เพื่อให้นักศึกษามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความหมาย ความสำคัญ องค์ประกอบการจัดการเรียนรู้ ทฤษฎีการเรียนรู้ รูปแบบการจัดการเรียนรู้ เทคนิค วิทยาการจัดการเรียนรู้

          2. เพื่อให้นักศึกษารู้จักคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์และคิดแก้ปัญหา

          3. เพื่อให้นักศึกษามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญโดยบูรณาการเนื้อหาในกลุ่มสาระการเรียนรู้ การบูรณาการการเรียนรู้แบบเรียนรวม การใช้และการผลิตสื่อ การพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ การประเมินผลการเรียนรู้ 

          4. เพื่อให้นักศึกษาสามารถฝึกปฏิบัติการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง
          5. เพื่อให้นักศึกษาสามารถทดลองจัดการเรียนรู้ในสถานการณ์จำลองและสถานการณ์จริงเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลจริง